ระวัง! กลไกความบกพร่องแบตเตอรี่ลิเธียม จะไม่ใช่แค่หูฟังระเบิดอีกต่อไป

WHAT: ระวังการใช้งานแบตเตอรี่ลิเธียม น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ที่ครอบหูฟังของผู้โดยสารหญิงระเบิดและลุกไหม้ติดไฟขึ้นมาขณะเธองีบหลับบนเที่ยวบินจากกรุงปักกิ่งไปยังนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

ความหวาดระแวงในช่วงหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว หลังจากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด Samsung Galaxy Note 7 เกิดระเบิดขึ้นมาจนกลายเป็นวัตถุต้องห้ามขนย้ายและนำเข้าในทุกพื้นที่ หลังจากนั้นตามมาอีกไม่นานก็มีข่าวเครื่องซักผ้าของซัมซุงเกิดระเบิดขึ้นมาอีกครั้งใหญ่ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกจนต้องหาต้นตอของสาเหตุที่แท้จริง และในที่สุดเราก็พบสาเหตุที่ Samsung Galaxy Note 7 ระเบิดอย่างเป็นทางการ ช่วยคลายข้อสงสัยของชาวสมาร์ทโฟนทั้งหลายในที่สุด

แต่แล้วความระทึกขวัญก็เกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ 15 มี.ค. บีบีซีและเอเอฟพีรายงานว่า เกิดเหตุที่ครอบหูฟังของผู้โดยสารหญิงระเบิดและลุกไหม้ติดไฟขึ้นมาขณะเธอหลับบนเที่ยวบินจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนไปยังนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย  เจ้าหน้าที่สำนักความปลอดภัยทางคมนาคมของออสเตรเลีย ระบุว่า เหตุไฟไหม้ที่ครอบหูบนเครื่องบินดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในออสเตรเลีย หญิงสาวสะดุ้งและสะบัดถอดหูฟังแบบครอบศีรษะออกเมื่อได้ยินเสียงระเบิด จากนั้นอุปกรณ์ไหม้และเริ่มละลาย ทำให้ใบหน้าของหญิงดังกล่าวถูกเขม่าดำและมือเป็นแผลพุพอง ผมไหม้ แล้วเธอสลัดออกขว้างลงพื้นด้วยความตกใจทำให้แบตเตอรี่และพลาสติกละลายติดพื้น ผู้โดยสารได้กลิ่นพลาสติกละลาย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เผาไหม้

ทั้งนี้ เชื่อว่าสาเหตุมาจากความบกพร่องของแบตเตอรี่ที่มีประจุไฟฟ้าของธาตุลิเธียม ใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่ลิเธียมบนเครื่องบิน เมื่อปีที่แล้วเครื่องบินบินจากนครซิดนีย์ต้องหยุดกลางคันเมื่อควันมาจากกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง พบแบตเตอรี่ลิเธียมติดไฟอยู่ในกระเป๋า

จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราต้องมาย้อนกลับดูว่า จริงๆ แล้วแบตเตอรี่ลิเธียมนั้นดีจริงๆ หรือ แล้วยังควรใช้อยู่รึเปล่า? เพราะข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์หลายชนิดนำมาใช้ นั้นเป็นเพราะช่วยลดเรื่องน้ำหนักตัวเครื่อง ที่สำคัญไม่ต้องใช้เวลาชาร์จนานเหมือนแบตเตอรี่รุ่นเก่าๆ

โครงสร้างการทำงานของ Battery Lithium Ion (Li-ion)

lithium ion เป็นแบตเตอรี่ ชนิดประจุไฟใหม่ได้ โดยหลักการทำงานจะปล่อย lithium ion จากขั้วลบไปยังขั้วบวกเมื่อคลายประจุและในทางกลับกันเมื่อประจุ lithium ion จะเคลื่อนที่จากขั้วบวกไปยังขั้วลบ ส่วนประกอบพื้นฐานหลัก 3 ส่วน คล้ายกับแบตเตอรี่ทั่วไป คือ วัสดุที่ทำ ขั้วบวก ขั้วลบ และ สารสื่อกลางนำไฟฟ้า (cathode, anode & electrolyte)

ข้อดีของแบตเตอรี่ Lithium Ion (Li-ion)

  • น้ำหนักเบา ต่อการให้พลังงานในหน่วยที่เท่ากันเมื่อเทียบกับแบตชนิดอื่นๆ
  • ไม่มี memory effect
  • มีการคลายประจุตามธรรมชาติเมื่อไม่ได้ใช้ในอัตราที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับแบตชนิดอื่นๆ เช่น Ni-Cd, NI-MH (1% เทียบกับ 10% และ 30% ต่อเดือนตามลำดับ)

ข้อด้อยของแบตเตอรี่ Lithium Ion (Li-ion)

  • อายุการใช้ค่อนข้างสั้น มักจะนับเป็นรอบของการชาร์จโดยธรรมดาจะอยู่ที่ประมาณ 300-500 รอบ
  • ความต้านทานภายในเซลล์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามรอบการชาร์จและตามอายุของแบตเอง
  • ประสิทธิภาพในการจ่ายไฟลดต่ำลงเรื่อยๆ
  • ที่สำคัญที่ต้องระวัง คือ ความเสี่ยงต่อการระเบิด มักเกิดจาก 2 กรณี คือ หากชาร์จด้วยโวลต์ที่สูงเกินไป และเมื่อเกิดความร้อนสะสมสูงเกินไป

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชาร์จ

  • โดยทั่วไปการชาร์จแบตลิเธียมจะเต็มภายใน 3 ชม.
  • ไม่ควรปล่อยใช้จนแบตหมดเกลี้ยง เพราะจะทำให้แบตเกิดความเครียด
  • แบตลิเธียมไม่มี memory effect เหมือน Ni-Cd หรือ Ni-MH การชาร์จเติมประจุเรื่อยๆ จะส่งผลดีกว่า ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่อาจยังเข้าใจผิด แบตลิเธียมไม่จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเซลล์ ในการใช้ครั้งแรก
  • จุดที่สำคัญที่ควรระวัง โดยเฉพาะการใช้งานจริงในประเทศเรา คือ ไม่ควรเก็บแบตที่ชาร์จเต็มไว้ในที่อุณหภูมิสูง เช่นในรถที่ร้อนๆ เนื่องจาก ณ จุดที่ชาร์จเต็ม หากมีการใช้งานตามปกติ อุณหภูมิขณะทำงานจะเท่ากับ 45°C อยู่แล้ว ซึ่งการเก็บไว้ในรถที่ตากแดดร้อน จะยิ่งทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นมาก
keyboard_arrow_up