เรื่องที่ Google ไม่มีคำตอบให้เรา

เพียงแค่เห็นชื่อหนังสือก็เรียกความสนใจของเราได้ชะงัก แหม! ก็ในยุคออนไลน์ที่การหาคำตอบเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงปลายนิ้วคลิกบนอากู๋อย่างปัจจุบันนี้ ยังมีเรื่องอะไรอีกหรือที่เราจะหาคำตอบจากเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่นี้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไปเยือนโลกอีกใบของ “คุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ และอีกสองเล่มที่น่าติดตาม มนุษย์สุดมโนกับไซเบอร์ราคะ เราก็ได้คำตอบว่าเรื่องที่ Google ไม่มีคำตอบให้เรานั้น คือเรื่องอะไร?

สำหรับหนังสือ “เรื่องที่ Google ไม่มีคำตอบให้เรา” นอกจากชื่อเรื่องที่ชวนให้หยิบมาอ่านแล้ว หนังสือเล่นนี้ยังกระตุกต่อมฮาด้วยภาษาสนุกสนานและเข้าใจง่ายคล้ายเรานั่งคุยกับเพื่อนสนิท แถมด้วยการกัดจิกให้เรารู้สึกเจ็บๆ คันๆ พร้อมสะกิดให้เราหันกลับไปย้อนดูพฤติกรรมของเราทั้งในโลกออนไลน์และในโลกความจริง หนังสือเล่นนี้จึงไม่ได้เล่าเพียงเรื่องสนุกคลายเครียดเท่านั้น แต่ยังช่วยเตือนสติให้เราฉุกคิดและฉุกคลิกก่อนที่เราจะโพสต์หรือแชร์อะไรอีกด้วย

“ถ้าใครคิดว่าหนังสือเล่มนี้ดูไร้สาระ จิกกัด ตลกขำขันอย่างเดียว ขอให้คิดใหม่ เพราะจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ถือเป็นอีกหนังสือดีที่ควรค่าแก่การอ่านเพื่อเยียวยาหัวใจให้กับมนุษย์จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับใครก็ตามที่รู้สึกพ่ายแพ้ต่อมายาบนโลกออนไลน์” คำนิยมหนังสือจากนักแสดง คุณหญิง – กัญญา ไรวินท์

Google-BK_03

 

สำหรับบทความนี้ เราไม่ได้มาบอกเล่าคำตอบของหนังสือเล่มนี้ให้คุณได้รู้ เพราะเราอยากให้คุณได้ไปหาคำตอบด้วยตัวเองมากกว่า แต่เราขอหยิบยก “Quote” คมๆ บาดใจของคุณท้อฟฟี่ที่ฝากเอาไว้ในหนังสือมาบอกเล่าให้คุณร้องซี๊ดกัน

01. กูเกิลมีแทบทุกอย่างที่เราต้องการค้นหา เราจะพบในสิ่งที่คนอื่นหาไว้แล้วมากมาย แต่บทเรียนในชีวิตของเรานั้นเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถหาคำตอบได้ในกูเกิล – จากบทที่ 2 : เรื่องที่ Google ไม่มีคำตอบให้เรา

02. ทุกความยากลำบาก มันซ้อมเราไว้ให้เราไม่เกรงอุปสรรคที่ใหญ่ยิ่งขึ้น จนเราพบกับความสำเร็จที่ใหญ่กว่าอุปสรรคนั้น – จากบทที่ 3 : Share

03. อะไรที่เราไม่ชอบ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นกับเราก็ไม่เห็นจำเป็นต้องเก็บมาทำให้เราทรมานกับมันไปด้วย ไม่มีทางที่เราจะได้ในสิ่งที่เราชอบไปหมดทุกอย่าง และไม่มีทางที่เราจะได้ในสิ่งที่เราไม่ชอบไปหมดทุกอย่าง สิ่งที่เราชอบอาจเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่ชอบ สิ่งที่เราไม่ชอบอาจเป็นสิ่งที่คนอื่นชอบก็ได้ เราแค่ต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้ – จากบทที่ 5 : Dislike

04. บางทีความจริงก็ไม่ได้อัปลักษณ์ แต่มันแค่ไม่สวยอย่างที่เราอยากให้เป็น – จากบทที่ 6 : ตัดสินด้วยภาพถ่าย

05. ที่จริงแล้วเราคงไม่ได้ต้องการคนหมื่นคนมา “สนใจ” เรา แต่ต้องการแค่ใครที่ “ใส่ใจ” เรามากกว่า – จากบทที่ 7 : เอะอะถอดเสื้อ

06. เวลาเราหัวเราะ เราหัวเราะเสียงดัง ยังไงคนก็ได้ยินได้เห็นว่าเราหัวเราะ แต่เวลาเราเสียใจ บางทีน้ำตามันไหลอยู่แต่ข้างใน ไม่มีใครรู้ – จากบทที่ 9 : จริงๆ แล้ว

07. สิ่งที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียก็เป็นแบบนั้น มันคือการตัดตอนความจริงมาไว้ในบริบทหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดของความจริง ซึ่งเมื่อตัดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งมาก็ทำให้เราไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด เหมือนกรอบรูปที่บังคับการมองเห็นของเราว่ามองได้แค่ภายในกรอบ – จากบทที่ 12 : จริงดิ?

08. บางทีความสัมพันธ์ที่ดีอาจไม่ใช่การอยู่กับคนที่สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ แต่เป็นการที่เราต่างยอมรับด้านที่น่าเกลียดของกันและกันได้ เหมือนที่รักในด้านที่ดีงามของทั้งคู่ แม้ในยามขัดแย้งกันก็ยังรัก เป็นห่วงกัน และยังไม่ยอมเกลียดกัน – จากบทที่ 13 : I hate you

09. คนแบบนี้แหละที่จะเปลี่ยนโลก คนที่ไม่เพียงเห็นความอยุติธรรมแล้วทำได้แค่บ่นในเฟซบุ๊ก แต่เป็นคนที่ลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงด้วยตนเอง – จากบทที่ 18 : ความไม่ตลกของโจ้กับออม

10. บางสิ่งที่เคยชอบในวันนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวเราในวันนี้แล้วก็ได้ หรือแม้กระทั่งสิ่งเดิม แต่เมื่อผ่านชีวิตมามากขึ้น เลนส์การมองชีวิตของเราเปลี่ยนไป ทำให้เรายิ่งเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่น และเข้าใจตัวเองได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น – จากบทที่ 19 : ยอม

11. บางทีคนเราก็มัวไปใส่ใจอะไรที่ไกลตัว จนลืมมองว่ามีอะไรที่อยู่ใกล้ หรือต้องไกลกว่านี้ถึงจะมองเห็น – จากบทที่ 20 : ใกล้ ไกล

12. ในชีวิตจริงเราอาจจะมีการตัดสินใจที่มองย้อนกลับไปแล้วคิดว่า “โอ๊ย! ไม่น่าทำแบบนั้นเลย” แต่ที่สุดแล้วทุกการตัดสินใจที่ผิดพลาดในอดีตจะสอนให้เรารู้ว่าควรรับมือกับชีวิตอย่างไร – จากบทที่ 21 : มนตร์รักทินเดอร์

13. พรีเซ็นเทชั่นงานแต่งงานมักจะให้เราเห็นภาพว่าคนทั้งคู่ “พบกัน” ได้อย่างไร มากกว่าจะบอกเราว่าคนทั้งคู่ “คบกัน” อย่างไรจึงจะรอดมาถึงวันนี้ได้ – จากบทที่ 23 : พบกัน – คบกัน

14. ภาพบางอย่างในความทรงจำแม้ไม่คมชัดเหมือนไฟล์ดิจิทัล เลือนรางไปบ้างตามการชะล้างของการเวลา แต่ความรู้สึกบางอย่างนั้นละเอียดอ่อนเกินกว่าที่เทคโนโลยีจะบันทึกได้หมด ต้องเก็บไว้ในหัวใจถึงจะถูก – จากบทที่ 24 : พี่ไบรอัน

15. เมื่อชีวิตของคนยุคนี้ต้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอด การมีปุ่ม “บ้าน” คงบอกให้เรารู้ว่าเรามาจากไหนและควรจะกลับไปที่ไหน บางทีการกลับบ้านที่แท้จริงอาจเป็นการปิดคอมพิวเตอร์แล้วกลับไปหาคนที่เรารักจริงๆ เพราะบ้านที่ไม่ได้อยู่ในปุ่ม Home เสียหน่อยนี่นะ – จากบทที่ 25 : ไม่มีบ้านในปุ่ม Home

ขอปิดท้ายด้วยนิยามหนังสือ ‘เรื่องที่ Google ไม่มีคำตอบให้เรา’ จากคุณท้อฟฟี่ที่เขาบอกไว้ในหน้าคำนำว่า… “มันคือการเข้าไปสำรวจโลกออนไลน์ เพื่อให้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น”

Google-BK_02
ผู้เขียน ท้อฟฟี่ แบรนชอว์ | สำนักพิพม์ Springbooks | ราคา 199 บาท
Story : Taliw
Photo : Beck Sabbath
keyboard_arrow_up