ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันทน์ || เปิดมุมมองนักเล่าเรื่อง ชายหนุ่มผู้หลงใหลในศาสตร์การแสดง

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์
ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

WHO # FAV Icon ฟลุค ธีรภัทร โลหนันทน์ : ถ้าประตูความฝันบานหนึ่งปิดลง เชื่อเถอะว่า มันจะมีประตูบานใหม่กำลังเปิดขึ้น รอให้ใครบางคนก้าวเดินต่อไป และนั่นอาจเป็นทางที่ใช่สำหรับคนๆ นั้น เหมือนกับชีวิตของ ฟลุค ธีรภัทร จากเด็กหนุ่มที่เคยมีความฝันและความมุ่งมั่นอยากเป็น “วิศวกร” กลับต้องมาเรียนรู้ปรัชญาชีวิตในบทบาท “เด็กเรียนการแสดง”

 

เมื่อเอ่ยถึง ฟลุค ธีรภัทร โลหนันทน์ หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดี กับบทบาทการแสดงในละคร SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ที่กำลังออนแอร์อยู่ ทุกวันเสาร์ สี่ทุ่ม ทางช่องวัน กับตัวละครที่ชื่อ วาด เด็กปีหนึ่งที่แอนตี้ระบบโซตัส แต่ชีวิตจริง ฟลุค เป็นรุ่นพี่นิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง เอกการแสดงและกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่3

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

ฟลุค ธีรภัทร เริ่มต้นเข้ามาทำงานในวงการบันเทิง ด้วยผลงานการแสดงเรื่อง พี่ชาย My Bromance” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ ขณะที่เขายังเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย ที่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานภาพยนตร์ หนังสั้น มิวสิควิดีโอ และละครเวทีโรงเล็กอีกหลายเรื่องให้แฟนคลับได้ติดตามผลงานอยู่เรื่อยๆ

สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ติดตามผลงานอะไรของเขามากนัก มองแว๊บแรก ฟลุค อาจดูเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบการใช้ชีวิต กิน เที่ยว เล่น กับเพื่อนๆ แต่พอเราได้มานั่งคุยกันและรู้จักเขามากขึ้น เราก็อดรู้สึกแปลกใจไม่ได้ว่า ตัวตนของ ฟลุค ช่างแตกต่างจากหลายตัวละครที่เขาเคยแสดงเสียเหลือเกิน เขามักได้รับบทเป็นคนที่ดูนิ่งเงียบ เคร่งขรึม มีความดราม่า และมีโลกส่วนตัวสูง แต่ตัวจริงของ ฟลุค ธีรภัทร อีกมุมหนึ่งนั้น เราสัมผัสได้ว่า เขาเป็นคนที่คุยสนุก ร่าเริง และเป็นคนชอบเล่าเรื่องเอามากๆ

วันนี้เราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักตัวตนของเขาให้มากขึ้น พร้อมเปิดมุมมองการใช้ชีวิต และแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ รอบตัวของเด็กหนุ่มนักเล่าเรื่องคนนี้

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

เราเริ่มต้นการคุยสบายๆ ด้วยเรื่องที่เขาตัดสินใจเลือกเรียนการแสดง ฟลุค เล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยมีความฝันอยากเรียนวิศวะมาก่อน

ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ ตอนนั้นเรียนอยู่ ป.2 ผมมีความฝัน อยากเรียนวิศวะมาก-ก-ก (ฟลุคเน้นเสียงจริงจัง) เด็กๆ เวลาใครถาม โตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กคนอื่นอาจตอบ อยากเป็นหมอ ตำรวจ ทหาร ดารา นักร้อง แต่ผมอยากเป็นวิศวกรครับ คือพ่อแม่ผมจบวิศวะทั้งคู่ แล้วที่บ้านก็ทำกิจการประกอบคอมฯ ขาย สมัยนั้นคอมหนึ่งตัวราคาเป็นหลักแสน ผมก็แบบ โห-ห-ห รวยว่ะ (หัวเราะ) อยากเรียน อยากทำงานแบบพ่อ ตอนนั้นก็คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะเรียนวิศวะ จนเรียนจะจบมัธยมฯ ผมก็ยังอยากเป็นวิศวกรอยู่ดี คือในหัวมีแต่วิศวะ วิศวะ วิศวะ อย่างเดียว ไม่คิดอยากเรียนอย่างอื่นเลยครับ

แต่จุดเปลี่ยนคือ ตอนนั้นผมเรียนอยู่ ม.5 ผมมีโอกาสได้ไปแสดงหนังเรื่องแรกชื่อ “พี่ชาย My Bromance” คือตอนนั้น คิดแค่ว่า แสดงหนัง ได้เงินมาใช้จ่าย ก็ดี เพราะผมก็อยากช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่บ้าง คือหลังจากช่วงฟองสบู่แตก กิจการที่บ้านก็แย่ไปด้วย จากที่มีเงินใช้จ่ายสบายมือ ตอนนั้นก็ต้องเริ่มประหยัดมากขึ้น ซึ่งในช่วงนั้น ผมก็ยังติวเพื่อเตรียมสอบเข้าวิศวะอยู่นะครับ แต่ก็ต้องหยุดไป เพราะผมจะต้องขึ้นไปเวิร์คช็อปและถ่ายทำหนังที่เชียงใหม่เป็นเดือนๆ พอกลับมา เห็นเพื่อนๆ ติวหนังสือกันไปไกลแล้ว ผมรู้สึกว่าตามไม่ทันแล้วล่ะ เอาไงดีวะ ในหัวก็คิดอะไรไม่ออก คืออย่างที่บอก เรามุ่งแต่จะสอบเข้าวิศวะมาตลอด พอไปต่อไม่ได้ ก็งงกับตัวเองอยู่เหมือนกัน

หลังจากหนังเข้าฉายไปแล้ว ผมก็มีโอกาสได้เล่นละครเวทีเรื่องแรกเรื่อง เพราะรักชั่วฟ้าดินสลาย (บทละครดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ ชั่วฟ้าดินสลาย ของ มาลัย ชูพินิจ) เราก็ได้ไอเดียใหม่ ไหนๆ เราก็มาทางนี้แล้ว เรียนการแสดงก็ได้วะ (หัวเราะ) ก็เลยตัดสินใจสอบตรงเข้า เอกการแสดงและการกำกับการแสดง ที่ มศว ครับ สุดท้ายก็สอบติด ก็ดีใจนะ ถามว่าตอนนั้นเสียดายมั้ยที่ไม่ได้เรียนวิศวะ ก็นิดนึงนะ คือเราตั้งใจเรียนคณะนี้ตั้งแต่แรก แต่ตอนนี้ก็เฉยๆ แล้ว เรียนการแสดงก็สนุกดี เพราะผมชอบถึงขั้นหลงรักศาสตร์นี้ไปแล้วครับ

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

ฟลุค เล่าให้เราฟังต่อว่า พื้นฐานที่เคยแสดงภาพยนตร์หรือละครเวทีมาก่อน เมื่อเข้ามาเรียนการแสดงในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง เหมือนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

พอผมเข้ามาเรียนศาสตร์การแสดงที่นี่ เหมือนผมต้องเริ่มต้นใหม่หมด ผมจะเรียกกับกลุ่มเพื่อนกันเองว่า ละครใน กับละครนอก ละครใน คือ ละครที่เล่นกันในมหาวิทยาลัยตามหลักสูตรที่เรียน ส่วนละครนอกคือ ละครเวทีอื่นๆ ที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย ซึ่งมันมีความแตกต่างกันเยอะมากครับ ผมไม่สามารถเอาการแสดงข้างนอกมาใช้กับการแสดงในมหาวิทยาลัยได้ มันมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่เราต้องทำตามหลักสูตร แต่ผมสามารถเอาพื้นฐานที่เรียนในห้องเรียน มาพัฒนาต่อยอดกับการแสดงข้างนอกได้นะครับ อีกอย่างเรื่องกระบวนการระหว่างการทำละครก็จะต่างกันด้วย อย่างละครในจะมีการทำเวิร์คช็อปทีละขั้นทีละตอนกับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน สิ่งนี้ผมได้ศึกษาจากรุ่นพี่ๆ เพิ่มเติมด้วยครับ

>> การเวิร์คช็อปการแสดงระหว่างละครนอกกับละครใน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ก็คล้ายๆ กันนะครับ แต่ขึ้นอยู่ว่าจะเป็นละครประเภทไหน ร่วมงานกับใคร อย่างเวิร์คช็อปกับ พี่ท่าน (‘นายท่าน’ ฐานชน จันทร์เรือง ลูกชาย ‘ครูช่าง’ ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง) พี่เชิด (เชิดศักดิ์ ประทุมศรีสาคร) จะเล่นไปเลยๆๆ แบบไม่มีเทค แล้วค่อยไปหาจุดหมายปลายทางร่วมกัน คือจะเล่นตามบล็อกกิ้งไปก่อน แล้ว motivation จะมาเองตามการเคลื่อนไหว แต่ถ้าเล่นกับ พี่จุ๊บ (นินาท บุญโพธิ์ทอง) จะพูดบทประโยคต่อประโยคไปก่อน ส่วนในมหาวิทยาลัยจะมีการวิเคราะห์ตัวละคร วิเคราะห์บทพูด หา objective หา motivation แล้วเอามาทำ

>> การเวิร์คช็อปสำหรับการแสดงภาพยนตร์ ละครซีรีส์ หรือละครเวที มันเอาไปใช้ด้วยกันได้ไหม

มันเอาไปใช้ได้หมดเลยครับ มันแค่ต่างวิธีมากกว่า อย่างละครโทรทัศน์ สมมติ เราได้บทตอนเช้า ต้องเล่นตอนบ่าย เราเอาวิธีแบบ พี่ท่าน พี่เชิด พี่จุ๊บ มาใช้ได้สบาย คือ เล่นตามบท ตามบล็อกกิ้ง ไปก่อนเลย เดี๋ยวค่อยว่ากัน แต่ถ้าเราได้บทมาก่อนเป็นเดือนๆ เราใช้วิธีการวิเคราะห์บทอย่างที่มหาวิทยาลัยสอน เราจะเก็บรายละเอียดได้เยอะมากๆ มันแล้วแต่สถานการณ์มากกว่าครับ

>> จากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ ฟลุค คิดว่าตัวเองพัฒนาการแสดงไปมากน้อยขนาดไหน

โอ้! เยอะมากเลยครับ (หัวเราะ) ถ้าย้อนกลับไปดูละครเวทีเรื่องแรกที่ผมเล่น คือ เราทำอะไรลงไปวะ (หัวเราะลั่น) พอเราได้เล่นละครเวทีเยอะๆ มันเหมือนได้ฝึกไปเรื่อยๆ อืม ชินหรือเปล่า ถ้าจะใช้คำว่าชินคงไม่ได้ แต่เหมือนเราชำนาญขึ้นมากกว่า เรารู้วิธีการแก้ปัญหา หรือแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีขึ้นมากกว่า เราได้ไปทำละครเวทีข้างนอก ได้เห็นนักแสดงละครเวทีรุ่นใหญ่แสดง ผมก็ไปศึกษาจากพวกพี่เค้า ทั้งกระบวนการซ้อม วิธีแสดง และอีกหลายๆ อย่าง เราเก็บมาได้เยอะมาก

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

>> ใครเป็นต้นแบบการแสดงละครเวทีของ ฟลุค

มีครั้งหนึ่ง ผมได้ไปดูละครเวที เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY มีนักแสดงท่านหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว ขอโทษด้วยครับ (หัวเราะแก้เขิน) เราเห็นเค้าเล่น เค้าใส่เต็มมาก คือ ไม่มีกั๊ก ไม่เหมือนเด็กทั่วๆ ไปที่มาซ้อมละครแล้วเล่นไปตามแพทเทิร์น ไม่ได้เล่นใหญ่เว่อร์ เล่นดูเป็นธรรมชาติ มีการ improvise ที่ลื่นไหล แต่มีพลังมาก เราก็กลับมาคิดกับตัวเอง เออว่ะ ถ้าเราเล่นได้แบบนี้ มันก็มันดีนะ หลังจากนั้นเราก็ลองเล่นแบบนั้นดูบ้าง ได้เล่นแล้วรู้สึกมันมาก-ก-ก (เน้นเสียง)

>> ศาสตร์การ improvise ทางการละครมีความยากง่ายอย่างไร ฟลุค เล่าให้เราฟังหน่อย

อย่างล่าสุด ผมไปเล่นละครเวทีโรงเล็กของพี่จุ๊บเรื่อง “The Xterns ฝากชีวิต ลิขิตหัวใจ” เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา จะเป็นละครที่ต้องใช้การ improvise เกือบทั้งเรื่อง ความยากจะอยู่ที่นักแสดง ถ้าไม่เชื่อใจกัน แย่งกันพูด ไม่ฟังกัน มันก็พัง พังในที่นี้คือ คนดูจะดูไม่รู้เรื่องว่า เราจะเล่าหรือสื่อสารอะไร การแสดงแนวนี้มันต้องฟังกัน แล้วเราจะต้องรู้ว่า mission ของเราคืออะไร แค่เตรียมตัวละครของตัวเองให้พร้อม จำ mission ของตัวละครให้ได้ แสดงไปพร้อมกันกับเพื่อน แล้วเดินไปสู่ point ของละคร ระหว่างทางจะเปะปะๆ ยิงมุกใส่กันได้นะ แต่สุดท้ายต้อง get to the point ให้ได้

ผมขอเล่าเบื้องหลังของ The Xterns อีกนิดนึงนะครับ ละครเรื่องนี้ เดิมทีมีตัวละคร 7 คน เวิร์คช็อปกันหนึ่งเดือน ระหว่างนั้นมีน้องออกไปหนึ่งคน เหลือ 6 คน ก็ต้องเล่นแบบ 6 คนให้ได้ พี่จุ๊บก็สาละวนกับการแก้บทใหม่ ที่จริงมันเป็นบทที่วางไว้คร่าวๆ สร้างสถานการณ์ ทำตัวละครขึ้นมา มันเป็นแนวการทำละครของพี่จุ๊บ ที่เน้นสร้างตัวละครไปเรื่อยๆ แล้วเอาตัวละครมาลงฉาก แล้วยิง point ซึ่งผมชอบวิธีนี้มาก คือถ้าตัวละครมันพร้อมแล้ว จะทำอะไรก็ได้

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

“ผมว่า การวิเคราะห์ตัวละครหนึ่งตัว คือการทำความเข้าใจมนุษย์หนึ่งคน”

>> ผ่านการเรียนการแสดงมาสามปีแล้ว ฟลุค มองว่า ศาสตร์การแสดง มันคืออะไร

ถ้าพูดถึงเรื่อง การแสดง บางคนจะมองว่ามันคือการ แอคติ้ง แต่สำหรับผมแล้ว ผมไม่เคยมองแบบนั้นเลยครับ ถ้าคนที่มาเรียนหรือทำงานในศาสตร์นี้ แล้วไม่ได้มาเล่นๆ แค่ทำเปะปะๆ ไปเรื่อย ผมรู้สึกว่า เวลาที่เราจะต้องแสดงเป็นตัวละครไหน เราต้องวิเคราะห์ตัวละครตัวนั้นให้เข้าใจเสียก่อน และการวิเคราะห์ตัวละครหนึ่งตัว มันคือการทำความเข้าใจมนุษย์หนึ่งคนเลยนะ ซึ่งที่ผ่านมา ผมเคยอ่านบทแล้ววิเคราะห์ตัวละครมาแล้วสิบตัว เท่ากับว่า ผมทำความเข้าใจมนุษย์มาแล้วสิบคน

อย่างมีบางคนตัวละครทำอะไรไปแล้วสักอย่าง แล้วเราเกิดรู้สึกว่า ทำไมตัวละครถึงทำแบบนี้วะ ในทางการละคร นี่ผิดเลยนะ เพราะตัวละครทำไปแล้วอ่ะ นั่นหมายถึง เรายังไม่เข้าใจตัวละครดีพอ อย่างเช่น ผมนั่งคุยอยู่ดีดี แล้วลุกขึ้นมาเต้นกลางร้าน แล้วเอ๊ะ ผมลุกขึ้นมาเต้นทำไม นี่ผิดเลยนะ เพราะลุกขึ้นเต้นไปแล้วอ่ะ คือต้องเข้าใจสิว่า ตัวละครทำไมถึงทำแบบนี้ อยู่ดีดีทำไมมันถึงบ้าได้แบบนี้

ทุกคนอาจสงสัยเหมือนกับเราใช่มั้ยว่า ฟลุค เรียนการแสดงมา เขาอาจเข้าใจในตัวละครนั้น แต่ในทางกลับกัน สำหรับคนนอกหรือคนดูที่มองมา มันก็เป็นไปได้ที่ว่า เราอาจไม่เข้าใจการกระทำของตัวละครนั้นๆ ว่า ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ด้วย ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ เราจึงขอให้เขาอธิบายในจุดนี้

ผมจะอธิบายแบบนี้ว่า มันเป็นเรื่องของการเล่าเรื่องของผู้กำกับละครเวทีมากกว่า รวมไปถึงแบล็คกราวน์ของตัวละคร และการทำงานของนักแสดง คือ นักแสดงจะเป็นผู้ส่งสาร นักแสดงต้องทำหน้าที่สื่อสารให้คนดูรู้เรื่องมากที่สุด นักแสดงต้องสร้างสภาวะให้กับตัวเอง ให้คนดูรู้เรื่องว่า ทำไมตัวละครถึงต้องทำแบบนั้น เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้ได้ เหมือนเรื่อง โรมิโอแอนด์จูเลียต (วรรณกรรมก้องโลกสุดคลาสสิกของ วิลเลียม เชคสเปียร์) ฉากที่ทั้งสองสบตากันในครั้งแรก แล้วนักแสดงไม่สามารถดึงความรู้สึกถึงขั้น รักกันจนชั่วฟ้าดินสลาย ขนาดนั้นได้ คนดูก็จะไม่เชื่อเลยว่า โรมิโอ-จูเลียต ต้องมาฆ่าตัวตายในตอนสุดท้าย เหมือนกับเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ทำไม ส่างหม่องถึงหลงรักยุพดีคนรักของอาตัวเองจนเกิดโศกนาฏกรรม มันต้องปูเรื่องให้คนดูรู้ อันนี้คือการเล่าเรื่องของผู้กำกับด้วย รวมไปถึงการเล่นของนักแสดงที่จะต้องพาตัวละครไปถึงจุดที่ผู้กำกับต้องการ

>> ถ้าอย่างนั้นฟลุคมองว่า ชั่วฟ้าดินสลาย เวอร์ชั่นหนังของ หม่อมน้อย มันสมเหตุสมผลกับจุดจบของเรื่องหรือไม่

อย่างแรกต้องขอชื่นชมบทหนังของหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) ก่อนเลยว่า สามารถพาคนดูไปถึงจุดนั้นได้ และพี่อนันดาก็พาคนดูคล้อยตามแล้วร้องไห้ไปกับตัวส่างหม่องได้ ผู้กำกับคือคนที่วางแผนการเล่าเรื่องทั้งหมด ตัวละครคือคนที่ทำตามแผน ถ้านักแสดงทำตามแผนนั้นไม่ได้ ละครมันก็พัง ผู้กำกับเลยจำเป็นต้องเคี่ยวกับนักแสดงมากๆ เพราะนักแสดงคือตัวที่สำคัญมากๆ นักแสดงต้องปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นผู้กำกับจึงไม่สามารถปล่อยพวกเขาทิ้งขว้างได้

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

“ไม่มีเรื่องเล่าเรื่องไหนที่เล่าไม่ได้ มีแต่นักแสดงที่เล่าไม่เป็น” คณะละครมรดกใหม่

>> ฟลุค คิดว่า เสน่ห์ของการเล่าเรื่องอยู่ที่ตรงไหน

ผมชอบคำของ คณะละครมรดกใหม่ อยู่คำหนึ่งว่า “ไม่มีเรื่องเล่าเรื่องไหนที่เล่าไม่ได้ มีแต่นักแสดงที่เล่าไม่เป็น” ก็เออว่ะ เรารู้สึกเหมือนกันว่า เรื่องทุกเรื่องบนโลกใบนี้สามารถเล่าได้หมด ไม่มีเรื่องไหนที่เล่าไม่ได้เลย มีแต่คนที่เล่าไม่เป็นเท่านั้น และผมเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องมาก มันเป็นปมของผมตอนเด็กๆ เวลาเล่าอะไรไม่ค่อยมีคนฟัง พอเริ่มเขียนหนังสือ แล้วมีคนอ่าน เราก็ เออเนอะ มันหมายถึง คนอ่านมันฟังเราอยู่ ผมก็เลยชอบการเขียน การเล่าเรื่อง คือเราพยามหาวิธีการเล่าเรื่องให้คนฟังเราให้ได้ เราไม่เคยพูดเสียงดังว่า “เฮ้ย ฟังดิวะ” และไม่ได้มองว่า วิธีนี้มันคือวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ผมคิดว่า มันจะมีวิธีบางอย่างที่ทำให้คนรอบข้าง แม้กระทั้งพ่อแม่ เพื่อน หรือใครก็ตาม ฟังแล้วเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะพูด ผมเลยรู้สึกว่า การกำกับการแสดงมันมีเสน่ห์ตรงการเล่าเรื่องนี่แหละ

>> คนมักจะพูดว่า ละครส่วนใหญ่ มันคือการจินตการของคนที่จะเติมแต่งอะไรลงไปก็ได้ พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง ฟลุค มองเรื่องนี้อย่างไร

จริงๆ แล้วละครมันมีหลายแนวนะครับ ผมมองว่า ละครมันคือการนำเสนอตัวอย่างชีวิตมากกว่า อย่างละครแนว Absurd จะเป็นงานศิลปะเชิงนามธรรมที่คล้ายกับภาพวาดแนว Abstract ซึ่งคนดูอาจดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่สุดท้ายแล้ว มันกำลังพูดถึงอะไรบางอย่างที่กระแทกความรู้สึกของคนดู และละครบางเรื่อง ถึงแม้ว่ามันไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ แต่ละครมันก็อาจสอนให้เราเข้าใจอะไรบางอย่างในชีวิตจริงได้ อย่างนิทาน ราชสีห์กับหนู มันอาจไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา แต่มันก็ให้ข้อคิด สอนให้เราเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือกันและกันได้ มันก็เหมือนกับละครเวที ก็ถือว่าเป็นนิทานที่ให้ข้อคิดกับคนดูได้เช่นกัน

เอาง่ายๆ อย่างละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง นางเอกเลวมาก สุดท้ายชีวิตก็พังพินาศ คนดูรู้อยู่แล้วว่า เลวขนาดนี้ตอนจบจะเป็นยังไง แต่ระหว่างทางต่างหากที่ทำให้ละครสนุก แล้วความสนุกตรงนั้นน่ะ พอดูจนจบแล้วได้ข้อคิด ไม่ใช่ศาสตร์การละครจะเป็นศาสตร์ที่เสพแล้วได้รับความบันเทิงอย่างเดียว ละครคือการนำเสนอตัวอย่างชีวิต ให้เราเห็นว่า ถ้าคุณเป็นแบบนั้นแบบนี้อย่างในละคร คุณจะได้ผลลัพธ์อย่างไร

เหมือนเป็นคำถามกลับกัน ถ้าคุณเป็นแบบนี้ แล้วคุณคิดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ละครมันยิงไปสู่คนดูว่า คนดูจะคิดอะไรได้ คุณตั้งคำถามกับมันอย่างไร มันเหมือนไปกระตุกความคิด คุณเคยคิดมั้ยว่า ชีวิตนี้คุณมีเพื่อนกี่คน คุณมีความสุขมั้ยในที่ทำงาน มันสอนอะไรเราได้หมด ทำไมเราถึงไม่มีความสุขล่ะ เป็นเพราะคนอื่นหรือตัวเราเอง มันคือการตั้งคำถามให้กับชีวิตของเรา มันคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ สัตว์สื่อสารได้เหมือนกันนะ แต่สัตว์ไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองได้เลย และนี่เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากสำหรับมนุษย์

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

เราคุยกันถึงเรื่อง ศาสตร์การแสดง ในหลายๆ ประเด็น ทำให้เราเห็นถึง ตัวตนและความคิด ของผู้ชายคนนี้ในแง่มุมที่น้อยคนนักจะได้สัมผัส เรามาทำความรู้จักตัวเขาให้มากขึ้นอีกนิดจากผลงานล่าสุดของเขากันบ้าง

>> มาคุยถึงผลงานล่าสุดของ ฟลุค กันบ้างดีกว่า ฟลุค รับบทเป็นใครในเรื่อง SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง

ผมแสดงเป็น วาด เป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งกับธีมเรื่องชัดเจนที่สุด ตัวละครอื่นเป็นการเล่าเรื่องความรัก เรื่องเพื่อน แต่ละครที่ชื่อ วาด มีปัญหากับคำว่า SOTUS อยู่ตัวเดียวเลย คือ มีปัญหากับพี่ว้ากตลอด

>> อยากให้ ฟลุค เล่าในมุมมองของ วาด ที่มีต่อคำว่า SOTUS ให้เราฟังหน่อย

ผมว่า วาด ไม่ได้ชื่นชมระบบ SOTUS ขนาดนั้นครับ เรารู้สึกว่า โอเค ระบบนี้มันดีในรุ่นแรกๆ แต่พอถึงรุ่นนี้วัฒนธรรมเดิมมันคืออะไรอ่ะ เราไม่เจอแล้ว เราไม่รู้ว่า SOTUS ส่งต่อวัฒนธรรมอะไรมาให้เรา คุณต้องการอะไรจากเรา เรารู้สึกว่า เด็กสมัยนี้มันไม่ต้องไปล่ารายชื่ออีกแล้ว เดี๋ยวนี้มันมือถือทุกคนแล้ว มันไม่ต้องมารับน้องเพื่อเจอหน้าเพื่อนหรือรุ่นพี่แล้ว ในวันที่ผมสอบติด มีเพื่อนคนหนึ่งแอดไลน์ผมได้ แล้วก็ invite เข้าไลน์กลุ่มเพื่อนเอกการแสดงได้ ต่อจากนั้นก็มีเพื่อนในกลุ่มแอดไลน์เข้ามาเป็นร้อยคนภายในวันเดียว คือเด็กมันรู้จักกันเองผ่านโซเชียลตรงนี้กันได้แล้วอ่ะ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว การรับน้องสมัยนี้มันไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้เพื่อนรักกัน ทะเลาะกัน หรือช่วยเหลือกัน เรามองว่า พอทำงานร่วมกัน เดี๋ยวมันก็ทะเลาะกัน เดี๋ยวมันก็ตีกันเอง และเดี๋ยวมันก็กลับมาช่วยเหลือกันเองแหละ ส่วนตัวผมชื่นชมระบบ SOTUS นะ แต่บางอย่างมันไม่สามารถใช้กับคนในยุคปัจจุบันได้

>> ถ้าระบบนี้ยังคงอยู่กับสถานศึกษาต่อไป ฟลุค อยากเห็น SOTUS ในรูปแบบไหน หรือมีวิธีการสอนน้องอย่างไร

ผมชอบความหมายของ S ตัวแรกของ SOTUS คือคำว่า Seniority คือความเคารพรุ่นพี่รุ่นน้อง เพราะสิ่งสำคัญของมนุษย์คือความสัมพันธ์ และยิ่งเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ความเป็นพี่เป็นน้อง มันสำคัญมากๆ อย่างเวลาเราไปเดินสยามแล้วเจอรุ่นพี่ เอ้ย! นั่นรุ่นพี่เรา เราเข้าไปทักทาย แล้วพี่ถามกลับมาว่า เป็นไงบ้าง มาทำอะไร จะไปไหนต่อ อะไร ยังไง เรารู้สึกมันเป็นความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ ที่เวลาไปไหนก็เจอรุ่นพี่รุ่นน้อง มันคือสิ่งที่เราได้จากระบบ SOTUS แต่ระบบการรับน้อง มันต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง หรือตัดทอนอะไรบางอย่างออกไป คือมันต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้แล้ว

มีเรื่องสนุกๆ เล่าให้ฟังครับ มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่เรียนจบได้งานทำแล้ว วันหนึ่งพี่เค้าพิมพ์กลับมาเล่าให้น้องๆ ฟังว่า สิ่งที่รุ่นพี่ควรสอนน้องๆ คือ หนึ่ง วิธีการคุยงานกับเจ้านาย สอง การตามใจลูกค้า สาม Microsoft word ทำอะไรได้บ้าง บลา บลา บลา (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องตลกนะ แต่ เออว่ะ ตอนทำงานมันต้องใช้นี่หว่า (หัวเราะร่า) สอนน้องแบบนี้มันน่าจะดีกว่า คิดเล่นๆ นะครับ ลองให้รุ่นพี่เปลี่ยนมาสอนน้องให้ใช้ Microsoft word แล้วให้น้องๆ ลองทำงานร่วมกันโดยใช้โปรแกรม word นี่แหละ เดี๋ยวมันก็ทะเลาะกันเอง แล้วน้องๆ ก็จะเรียนรู้ว่า เพื่อนร่วมงานแต่ละคนเป็นยังไง ก็ดีเหมือนกันนะ

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

>> นอกจากเรียน ซ้อมละคร วันว่าง ฟลุค ทำอะไรบ้าง

ชอบอ่านหนังสือครับ ผมจะชอบอ่านวรรณกรรมซีไรต์ แนวปรัชญา แนวธรรมชาตินิยม เฉพาะวรรณกรรมไทยนะครับ วรรณกรรมแปลไม่ค่อยได้อ่าน คือ ตอนเด็กผมมีปม เคยซื้อหนังสือวรรณกรรมแปลมาเล่มหนึ่ง อ่านแล้วเจอการใช้ภาษาได้ห่วยมาก มันไม่สนุก แทบอยากจะโยนทิ้ง หนังสือแปลแต่ละเล่มมันก็แพง เสียดายเงิน เลยไม่กล้าซื้อมาอ่านอีก แต่ไม่ใช่ว่า วรรณกรรมไทยเขียนดีกว่านะครับ ที่ห่วยๆ ก็มี แต่เราก็เลือกอ่านงานเขียนดีดีไง อย่างผมชอบอ่านงานเขียนของ แดนอรัญ แสงทอง เรื่องที่ผมชอบมากที่สุดชื่อ เงาสีขาว เป็นแนวธรรมชาตินิยมจ๋า ดิบๆ เลยพี่ เป็นมุมมองจากความตาย ถ้าเอาความตายมามองดูชีวิตตัวเอง แล้วเยาะหยันชีวิตตัวเอง ชีวิตมันมั่ว ต่ำทราม เดี๋ยวก็ตายแล้ว อะไรประมาณนี้ พออ่านจบบทที่สองแทบอยากจะโดดตึกเลยนะ (หัวเราะ) เป็นโมเม้นท์ที่ดาวน์มาก อยู่ในสภาวะที่ฆ่าตัวตายได้เลยนะพี่ ไม่ควรอ่านอยู่คนเดียว ควรมีเพื่อนอยู่ด้วยเยอะๆ (หัวเราะอารมณ์ดี) แต่พออ่านจบเล่มไปสักพักจะเริ่มตกตะกอน อ๋อ! เข้าใจละ อย่างผมอ่านหน้าสุดท้ายจบแล้วสตั๊นเป็นนาทีเลยครับ เป็นนาทีจริงๆ นะ (ฟลุคพูดย้ำ จริงจัง) อารมณ์เหมือนโดนตบหน้า เจ็บปวดมาก พี่ตามไปอ่านได้นะ แดนอรัญได้กล่าวเอาไว้ว่า ผู้หญิงเท่านั้นที่อ่านไม่รู้เรื่อง มันคือความระยำของผู้ชายครับ

นอกจากนี้ผมก็ชอบอ่านงานเขียนของ ปราบดา หยุ่น อย่างเรื่อง ฝนตกตลอดเวลา มีคนสปอยฉากหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ แล้วตามไปซื้อมาอ่านเลย คือ มีคนเดินลงบันไดไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นล่างสุด พอเปิดประตูออกไปแล้วเจอ ดาดฟ้า เฮ้ย! อารมณ์แบบคาดไม่ถึง คิดได้ไงวะ

แล้วก็มีนักเขียนรุ่นใหญ่อีกท่านที่ผมกำลังสนใจผลงานของเขาอยู่คือ อารงค์ (รงค์ วงษ์สวรรค์) ตอนนี้ผมกำลังตามหาหนังสือเรื่อง สนิมสร้อย ตีพิมพ์ปี 2504 อยู่ แต่ยังหาไม่เจอ แต่โชคดีมากผมได้เรื่อง ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนหนึ่ง ตีพิมพ์ปี 2511 มาเล่มหนึ่ง เปิดอ่านแต่ละหน้าดังแกร๊กๆ เหมือนหนังสือจะขาด มันเก่ามากครับ (หัวเราะ)

>> รู้มาว่า ฟลุค ชอบฟังเพลงของ Greasy Café

ใช่ครับ เมื่อก่อนฟังเพลงของ พี่เล็ก (อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร) ทุกอัลบั้มเลย ดนตรีขึ้นมาร้องได้ทุกเพลง จริงๆ นะครับ ผมเคยอกหักมาครั้งหนึ่ง แล้วตอนนั้นกำลังนั่งรถไปอีเว้นท์งานหนึ่ง ก็เสียงใส่หูฟัง ฟังเพลงไปเรื่อยๆ อยู่ดีดี ก็มีเพลงของพี่เล็กดังขึ้นมา ชื่อเพลง อุบัติการณ์ (อัลบั้ม ‘The Journey without Maps’ พ.ศ. 2555) ฟังไปฟังมา ทำไมเราเข้าใจวะ เมื่อก่อนฟังเพลงนี้ไม่เคยรู้เรื่องเลย (หัวเราะ) แล้วก็ตามไปฟังทุกเพลง รู้สึกว่า ทำไมตอนอกหักเราเข้าใจทุกเพลงเลยวะ (หัวเราะลั่น) แล้วยิ่งได้ไปดูคอนเสิร์ต เวลาที่พี่เล็กเล่นดนตรีสด พี่แกคุมคนดูอยู่ เรารู้สึกสนุกไปกับเพลงของพี่เค้าแล้ว deep down ตัวเองไปเรื่อยๆ แต่มันมีความสุขที่อยู่ในห้วงอารมณ์แบบนี้ครับ

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

>> และยังรู้มาอีกว่า ฟลุค ชอบขี่รถมอเตอร์ไซค์มามหาวิทยาลัย ทำไมถึงชอบขี่รถมอเตอร์ไซค์มากกว่าขับรถยนต์

(ฟลุคนั่งนิ่งไปนานเกือบหนึ่งนาที แล้วสบถกับตัวเองว่า “เออ ทำไมไม่ซื้อรถยนต์วะ”) คือผมไม่เคยถามตัวเองเลยว่า ทำไมถึงไม่ชอบขับรถยนต์ เคยมีคนพูดบ่อยๆ ว่า “เก็บเงินไปซื้อรถยนต์เลยดีกว่า” แต่ผมไม่เคยคิดแบบนั้นเลย มันเหมือนเรารู้สึกเท่มั้ง เวลาขี่รถมอเตอร์ไซค์ ยิ่งผมใช้รถเก่าเข้าขั้นคลาสสิค 50 ปีได้แล้ว อย่าง Yamaha RX 100 มันเป็นฟีลที่ดูเป็นของเก่าและเก๋ามั้งครับ ปกติผมจะขี่รถมอเตอร์ไซค์มาเรียน แต่ช่วงนี้ฝนตก ก็ไม่ได้ขี่ เคยขี่แล้วเจอฝน อารมณ์เหมือนพระเอกเอ็มวีเลย แต่ไม่ใช่ครับ จริงๆ มันดูโทรมมาก (หัวเราะ)

>> ส่วนใหญ่คนชอบขี่รถ มักจะมีสถานที่ที่ชอบไปบ่อยๆ ฟลุค ชอบไปเที่ยวไหนบ้างหรือเปล่า

ปกติแล้วเป็นคนชอบอยู่บ้านนะ คือจะมีช่วงที่ไปนั่งอยู่ในร้านกาแฟบ้าง เวลาที่คิดงานไม่ออก เป็นฟีลแบบอยู่บ้านแล้วไอเดียไม่บรรเจิด ก็จะไปนั่งร้านกาแฟ จะเป็นแบบนี้มากกว่า ส่วนตัวแล้ว พอเลิกเรียน หรือทำงานเสร็จ ก็อยากกลับบ้าน ไม่อยากไปกินข้าวนอกบ้าน ไม่อยากไปไหน คนอื่นวันว่างคงอยากไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่ผมไม่ อยากอยู่บ้านมากกว่า ดูเหมือนเป็นคนรักบ้านเนอะพี่ (หัวเราะ)

>> อย่างวันปกติ ฟลุค มักหลบตัวอยู่ที่บ้าน มหาวิทยาลัย โรงละคร กองถ่าย หรือร้านกาแฟ แล้วมีสถานที่ไหนที่เราจะเจอ ฟลุค ได้อีกบ้าง

เมื่อก่อนชอบดูหนังมากครับ มีอยู่ช่วงหนึ่งเข้าโรงหนังดูหนังสามสี่เรื่องติดกันเลย คือดูทั้งวัน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าการดูหนังเป็น inspiration ที่ดี ยิ่งดูยิ่งได้ ผมเป็นพวกรักในความรู้ เวลาเราชอบอะไรมากๆ ก็จะคลุกตัวอยู่กับมัน หนังมันไม่ได้มีแค่ศาสตร์การละครอย่างเดียว มันมีอะไรอีกมากมายที่มาประกอบกัน ทั้งเรื่องมนุษย์ ความรัก วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ มารวมกัน ส่วนตัวผมชอบหนังแนวปรัชญา อย่าง Birdman หรือล่าสุด The Revenant แล้วผมก็ชอบการกำกับหนังของ เควนติน ทาแรนติโน ด้วย อย่าง Django Unchained เป็นหนังของคนผิวดำ มันมีความกวนๆ ผมรู้สึกว่า ผู้กำกับคนนี้ทำงานใกล้ชิดกับนักแสดงค่อนข้างสูงมาก คือนักแสดงต้องทำงานหนักเพื่อให้หนังออกมากวนตีนได้อย่างงั้น (หัวเราะ) มีอยู่ฉากหนึ่ง ตัวละครหัวเราะหลังจากที่โดนยิงไปแล้ว คือ มันกวนตีนใส่กันไปเรื่อยๆ

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า ภาพที่คนเห็นจากผลงานของ ฟลุค ดูเหมือนเป็นคนนิ่งๆ เหวี่ยงๆ หรือเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง แต่พอได้มาคุยกันวันนี้ เขาทำให้เราเซอร์ไพรส์ เพราะว่าตัวจริงของ ฟลุค เป็นคนที่คุยสนุก มีเสียงหัวเราะตลอดการคุย เราเลยขอถามเขาตรงๆ ว่า จริงๆ แล้ว ถ้าให้มองตัวเอง ตัวตนของ ฟลุค ธีรภัทร เป็นคนแบบไหน

ช่วงเรียนอยู่ปีสอง เป็นช่วงที่ค้นหาตัวเองหนักมาก-ก-ก (น้ำเสียงจริงจัง) เคยเข้าป่าไปกับพวกพี่ท่าน แล้วก็มีช่วงหนึ่งใส่กางเกงเล คีบรองเท้าแตะมาเรียนเลย พยามหาสไตล์ตัวเองรุนแรงมาก แล้วก็มาคิดได้ว่า สิ่งนี้ไม่จำเป็นเปล่าวะ ผมว่า การอยู่ให้ได้ในทุกสังคม มันสำคัญกว่า เวลาเราอยู่ในมหาวิทยาลัย เราก็ควรอยู่กับเพื่อนให้ได้ ไม่ใช่ว่าเป็นตัวเอง ขนาดที่ไม่มีใครคบ หรือเวลาที่เราไปงานสังคม เราก็ควรใส่สูท ผูกเนคไทด์ให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพ เป็นการให้เกียรติทุกคน การอยู่อย่างไม่มีคนเกลียดดีที่สุด มันไม่จำเป็นต้องมองว่า ตัวเองเป็นคนแบบไหน เกลียดคำนี้มากเลย แฟนเก่าเคยพูดว่า เธอก็รู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน เราก็บอกกลับไปเลยว่า ก็รู้ตัวเองเป็นคนแบบไหน แล้วทำไมไม่ปรับล่ะ คือทุกคนต้องมีการปรับตัว อย่างเวลาอยู่กับพ่อแม่ เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเองเหมือนอยู่กับเพื่อน ถ้าเป็นแบบนั้น พ่อตบตายเลยนะ (หัวเราะร่า) สุดท้ายมันก็คือคำว่า “เราควรอยู่ให้ได้ในทุกสังคม”

>> แสดงว่าผู้หญิงที่จะมาเป็นแฟนของ ฟลุค จะต้องรับในสิ่งที่เราเป็นให้ได้ในทุกสังคมด้วยหรือเปล่า

ก็ไม่เชิงครับ อย่างแฟนคนปัจจุบัน ผมก็เป็นคนที่ปรับเข้าเยอะอยู่เหมือนกัน มันไม่มีใครเพอร์เฟ็คท์หรอก มันคือการปรับตรรกะบางอย่างเพื่อเข้าหากัน มันจะอยู่ด้วยกันอย่างสบายๆ

>> สุดท้ายแล้ว อยากให้ ฟลุค ฝากอะไรถึงคนที่อยากจะเข้ามาสัมผัสในศาสตร์ของการแสดงหน่อย

เคยมีคนพูดว่าอาชีพการแสดง คือ เต้นกินรำกิน เป็นคำที่โดนกันเยอะมาก พ่อแม่หลายคนก็ไม่สนับสนุน แต่ผมรู้สึกว่า ศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังของทุกอย่างบนโลกใบนี้เลยนะ เป็นศาสตร์ที่อยู่กับสังคมมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นศาสตร์ที่สร้างค่านิยมให้กับสังคม ทั้งเรื่อง แฟชั่นการแต่งตัว ยอมรับเถอะว่า แอคหลายแอคของคนสมัยนี้ ลอกเลียนแบบมาจากละครที่เราดู อย่าง การมองบน หรือการทำท่าทางอะไรหลายๆ อย่างของผู้หญิงทุกวันนี้แทบจะโดนละครกลืนกินไปหมดแล้ว

อย่างที่บอก ผมรู้สึกว่า การแสดงมันอยู่เบื้องหลังของทุกอย่าง แม้กระทั่ง สงครามโลก หรือการ Propaganda ก็มาจากสายการทำหนัง การทำโฆษณาชวนเชื่อ จริงๆ มันมีสายงานรองรับการทำงานทางด้านนี้เยอะมาก แต่มันอยู่เบื้องหลังทุกอย่างที่เรารู้จักเลยก็ได้ การทำร้านกาแฟให้คนรู้จัก มันขึ้นอยู่กับการพีอาร์หรือการโปรโมต มันก็วกเข้ามาอยู่ในศาสตร์นี้อยู่ดี การเล่าเรื่อง การสื่อสาร มันแฝงตัวอยู่ในทุกที่ที่เราไป เราเดินไปเห็นโปสเตอร์ มันก็คือการเล่าเรื่องด้วยภาพที่จะสื่อสารอย่างใดให้คนรู้ว่า ร้านกาแฟนี้มีดีอย่างไรที่เราควรจะไป

ผมไม่กลัวเลยที่เรียนแล้ว จะไม่มีงานทำ คนขาดด้วยซ้ำไป หลายคนจะคิดว่า ศาสตร์นี้เรียนง่ายๆ แต่พอเข้ามาเรียนรู้จริงๆ คือมันเรียนยากมาก ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจ หรือค้นคว้าหาข้อมูลตามประเด็นในหลักสูตรการเรียนรู้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไปที่อยู่ท่ามกลางบทละคร แต่คนที่อยากเรียนรู้จริงๆ เค้าจะได้เรียนรู้อะไรที่มันลึกซึ้งกว่านั้น เค้าสามารถมองออกในการทำงาน เค้าจะสามารถสร้างงานศิลปะที่ทำให้คนทั้งโลกจดจำเขา ก็ได้

ฟลุค ธีรภัทร โลหนันนทน์

อ่านมาถึงตรงนี้ คงเป็นเหมือนอย่างที่ผู้ชายคนนี้บอกกับเราว่า ถ้าการวิเคราะห์ตัวละครหนึ่งตัว คือการทำความเข้าใจ มนุษย์หนึ่งคน และเราก็อยากจะบอกกับฟลุคและทุกคนว่า การมานั่งคุยกับ ฟลุค ธีรภัทร ในวันนี้ ก็เปรียบเหมือน เราได้ทำความเข้าใจ มนุษย์หนึ่งคน ที่มีจิตวิญญาณของนักแสดง และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของนักเล่าเรื่อง เช่นกันครับ


Interview : ธนกฤต ชัยสุวรรณถาวร

Photo : วาระ สุทธิวรรณ

Location : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

keyboard_arrow_up